DEV Community

Cover image for UX UI Design เบื้องต้น Section 2 “เจาะลึก UX Design”
Rawiya Jumruanthong for tamemo

Posted on • Originally published at centrilliontech.co.th

UX UI Design เบื้องต้น Section 2 “เจาะลึก UX Design”

จากใน Section ที่แล้ว เราได้รู้พื้นฐานต่างๆของ UX UI Design ไปแล้ว ใน Section นี้ เราจะมาเริ่มทำความเข้าใจ และเจาะลึกลงไปกับ UX Design ให้มากขึ้น


หัวข้อการเรียนรู้ UX Design

การออกแบบประสบการณ์ เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จในการออกแบบ การรับรู้เป้าหมายและการเรียนรู้จากผู้ใช้งาน ทำให้เรากำหนดทิศทางของการออกแบบได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานเกิดการประทับใจ เกิดความสนใจ และเกิดการพอใจในการใช้งานได้

โดยจะเรียนรู้ทั้งหมดดังนี้

  • กระบวนการ Design Thinking
  • Empathize การเข้าอกเข้าใจผู้ใช้งาน
  • Define การกำหนด การเลือกปัญหา ที่เราควรให้ความใส่ใจ
  • Ideate การสร้างสรรค์ไอเดียและการคิดไอเดียเพื่อแก้ปัญหา
  • วิธีการสร้างต้นแบบ และทดสอบต้นแบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แท้จริง

UX Design มีอยู่ในทุกสิ่ง

การที่เราจะเกิด Experience หรือประสบการณ์ได้นั้น จะเกิดจากการรับรู้ และความรู้สึก ในการรับรู้อาจจะมาจากการสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน และต้องควบคู่ไปกับความรู้สึกด้วย เช่น รู้สึกชอบหรือไม่ชอบ รู้มีความสุขหรือไม่มี รู้สึกดีหรือไม่ดี

โดยแบ่งเป็นกรณีศึกษาได้ 2 แบบ คือ

  • การออกแบบบริการ
  • การออกแบบผลิตภัณฑ์

สรุปคือ Experience หรือประสบการณ์ มีความหลากหลาย มีความแตกต่างกัน การออกแบบประสบการณ์จึงต้องใส่ใจการรับรู้และความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญ


แนวคิดและกระบวนการ Design Thinking

เป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการออกแบบ UX โดย Design Thinking ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท IDEO เป็นกระบวนการการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ได้รับความนิยมถึงขั้นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook, Apple ก็ได้นำกระบวนการนี้ไปใช้งานอย่างจริงจัง จนทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายไปทั่วโลก

Design Thinking เป็นกระบวนการที่เน้นความเข้าอกเข้าใจผู้ใช้งานเป็นสำคัญ

ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ คือ

  • Empathize : ความเข้าใจผู้ใช้งาน
  • Define : การเลือกปัญหาที่เราสนใจ หรือปัญหาที่เราอยากเข้าไปแก้ไข
  • Ideate : การคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา
  • Prototype : การสร้างต้นแบบ โดยไม่เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการจริงๆ แต่จะเป็นการสร้างต้นแบบเพื่อใช้ทดลองก่อน
  • การทดสอบ : คือการนำต้นแบบที่เราได้ไปทดสอบ

และเมื่อจบขั้นตอนที่ 5 แล้ว ก็จะวนลูปกลับสู่ Empathize อีกครั้ง

ดังนั้นการทำ Design Thinking จะเป็นกระบวนการที่ทำซ้ำไปเรื่อยๆ และเมื่อจบการทำ Design Thinking เราจะยิ่งเข้าใจผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น เข้าใจถึงปัญหา และได้ไอเดียการแก้ปัญหานั้นๆมากขึ้น


Empathize การเข้าอกเข้าใจผู้ใช้งาน

เริ่มจากการตั้งสมมติฐาน ปัญหา ข้อสงสัย หรือพฤติกรรมที่คุณสนใจ ซึ่งจะเป็นการ
นำไปสู่กลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งการทำความเข้าใจผู้ใช้งาน จะมี 4 ประเด็นหลักๆ

  • สิ่งที่ผู้ใช้คิด
  • สิ่งที่ผู้ใช้พูด
  • สิ่งที่ผู้ใช้รู้สึก
  • สิ่งที่ผู้ใช้ลงมือกระทำ

โดยจะต้องเก็บข้อมูลโดยตรง ไม่ใช่แค่ทำแบบสอบถาม หรือเสิร์ชหาตาม Google ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งานโดยตรง เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ หรือการให้ผู้ใช้งานได้ลงมือใช้จริง


การสัมภาษณ์และวิธีการตั้งคำถาม

เป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องลงทุนสูง แต่มีข้อจำกัด ในการจะได้ข้อมูลที่เป็นเท็จมีสูงมาก ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมืออื่นๆเข้ามาช่วยด้วย และต้องมุ่งเน้นเพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องสิ่งที่ผู้ใช้พูด, สิ่งที่ผู้ใช้คิด, สิ่งที่ผู้ใช้รู้สึก และ สิ่งที่ผู้ใช้ลงมือกระทำ

5 รูปแบบคำถามหลักๆที่จำเป็นจะต้องมี

  • Variable : เป็นคำถามที่ถามเรื่องพื้นฐานทั่วไป เช่น อายุ การศึกษา เพศ ความสนใจ เป็นคำถามพื้นฐานเพื่อยืนยันว่า ผู้ที่ให้สัมภาษณ์เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราจริงๆ

  • Mental Model : ถามความคิด ว่าผู้ที่ให้สัมภาษณ์มีความคิดเห็นอย่างไร มีมุมมองอย่างไร เช่น คุณมีความคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

  • Activity : ถามถึงสิ่งที่ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ลงมือกระทำ ว่าผู้ที่ให้สัมภาษณ์กระทำอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ผู้ที่ให้สัมภาษณ์กระทำอยู่เป็นประจำ เช่น ปกติเรียนหนังสืออย่างไร

  • Motivation : ถามเกี่ยวกับความรู้สึก ถามเกี่ยวกับเป้าหมายของผู้ที่ให้สัมภาษณ์ เช่น ความสุขในชีวิตคุณคืออะไร

  • Opportunity : ถามเกี่ยวกับโอกาส โดยจะมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ทำให้ผู้ที่ให้สัมภาษณ์เป็นปัญหา หรือสิ่งที่ผู้ที่ให้สัมภาษณ์จะลงมือทำเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านั้น เช่น อะไรเป็นปัญหามากที่สุดในการเข้าห้องเรียนของคุณ และคุณมีวิธีหลีกเลี่ยงอย่างไร

โดยขั้นตอนการสัมภาษณ์จะเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐาน(Variabl)ก่อนเสมอ จากนั้นคำถามอีก 4 รูปแบบจะเรียงอย่างไรก็ได้ แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับผู้ที่ให้สัมภาษณ์ และสิ่งสำคัญคือต้องถามให้ครบทั้ง 5 รูปแบบ เพื่อที่จะได้รู้ในทุกๆด้านของผู้ที่ให้สัมภาษณ์


เทคนิคการสัมภาษณ์และการบันทึก

โดยพื้นฐานจะประกอบด้วยทีมงาน 3 คน ทำหน้าที่แตกต่างกัน

  • Interview : ทำการสัมภาษณ์ ทำหน้าที่ตั้งคำถามและสื่อสารกับผู้ให้สัมภาษณ์
  • Note : ทำหน้าที่จดบันทึก ไม่ต้องคิดหรือวิเคราะห์ แค่จดทุกอย่างที่เป็นข้อเท็จจริง ที่ผู้ถูกสัมภาษณ์พูดออกมา
  • Observe : ทำหน้าที่สังเกต มองพฤติกรรมของผู้ถูกสัมภาษณ์ สังเกตการกระทำ และแยกให้ออกว่าข้อมูลไหนที่พูดออกมาแล้วเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเท็จ

>หากมีผู้ให้สัมภาษณ์แค่ 2 คน คนที่ทำหน้าที่ Note ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมด้วย และหากมีผู้สัมภาษณ์คนเดียว ให้มุ่งเน้นไปที่การสัมภาษณ์และการจดบันทึกเป็นหลัก

  1. แรกเริ่มเราจะต้องแนะนำตัวเองและบอกถึงเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์ก่อน เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่เครียด และสบายใจ โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 นาที

  2. ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์แนะนำตนเอง และเริ่มถามคำถาม โดยจะเป็นคำถามพื้นฐาน(Variable) ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 นาที

  3. เริ่มถามคำถามที่อยากถาม ประเด็นที่สนใจ เพื่อเก็บข้อมูล ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที

  4. ขั้นตอนสุดท้าย หากมีบางสิ่งที่อยากให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ลงมือปฏิบัติให้ดู หรือมีแบบสอบถาม จะใช้เวลาประมาณ 5 นาที

ทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ไม่ควรเกินระยะเวลา 1 ชั่วโมง

สรุปคือวิธีการสัมภาษณ์ เราจะต้องมุ่งความสนใจไปในเรื่องของสิ่งที่ผู้ใช้พูด, สิ่งที่ผู้ใช้คิด, สิ่งที่ผู้ใช้รู้สึก และ สิ่งที่ผู้ใช้ลงมือกระทำ โดยเตรียมคำถามให้พร้อมและครบทั้ง 5 รูปแบบ


การสังเกต

เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมาก จากการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ วิธีการสังเกตมี 3 แบบ

  1. มองถึงรูปลักษณ์ภายนอก : สีหน้า ท่าทาง บุคลิกภาพ เป็นต้น

  2. มองพฤติกรรม : สิ่งที่ทำเป็นประจำ สิ่งที่ทำอย่างเคยชิน สิ่งที่ทำอย่างปกติ

  3. มองการกระทำ : โฟกัส หรือให้ความสำคัญกับพฤติกรรมบางอย่างที่เราสนใจ หรือเป็นพฤติกรรมที่เราอยากแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้การสังเกตจะมีอีก 2 วิธี คือ

  1. สังเกตห่างๆ หรือสังเกตจากระยะไกล : เป็นการมองพฤติกรรม หรือการกระทำจากระยะไกลๆ ดูสิ่งที่เขากระทำ หรือสิ่งที่เขาตัดสินใจ วิธีการคือเลือกบุคคลแค่บุคคลเดียว แล้วมองตลอด อย่ามองแค่รวมๆ ให้โฟกัสที่คน 1 คน ต่อการสังเกต หรือโฟกัสที่จุดที่เราสนใจไปเลย ตัวอย่างเช่น เราต้องการทำ Application เกี่ยวกับระบบจ่ายเงินในร้านสะดวกซื้อ ก็ให้โฟกัสแค่พฤติกรรมการจ่ายเงินของลูกค้าที่หน้าเคาท์เตอร์ไปเลย

  2. สังเกตแบบประชิดตัว : จำเป็นต้องอนุญาตจากผู้ที่เราจะสังเกตก่อน ระหว่างติดตามสามารถพูดคุยได้ เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้น

สรุปคือการสังเกต เป็นวิธีที่ได้ผลและได้ประสิทธิภาพที่ค่อนข้างดี แต่ทำยาก และใช้สมาธิกับการใส่ใจสูงมาก ต้องสนใจทั้งภาพรวม และรายละเอียดเล็กๆน้อยๆไปพร้อมๆกัน


การใช้งาน Empathy Map

คือวิธีการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ

  • การพูด : จะบันทึกข้อมูลทุกอย่างที่ผู้พูดได้พูดไว้ และดูว่าคำพูดไหน หรือประโยคไหนที่น่าสนใจ หรือเป็นประโยคที่พูดซ้ำๆ บ่อยๆ
  • การคิด : วิเคราะห์ว่าผู้ใช้มีกระบวนการคิดอย่างไร มีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งสามารถดูได้จากการกระทำด้วย เราจะรู้ได้ว่าเขามีการตัดสินใจอย่างไร
  • ความรู้สึก : วิเคราะห์ว่าผู้ใช้รู้สึกอย่างไร พอใจหรือไม่พอใจอย่างไรบ้าง สังเกตได้จากสีหน้า น้ำเสียง และการกระทำที่แสดงออกถึงความรู้สึกของผู้ใช้
  • การลงมือทำ : บันทึกสิ่งที่ผู้ใช้จำเป็นต้องกระทำ หรือตั้งใจที่จะกระทำ โดยบันทึกและดูว่า พฤติกรรมไหนที่น่าสนใจ

เมื่อรวบรวมและวิเคราะห์ตามนี้ได้เสร็จ จะทำให้เห็นภาพของผู้ใช้งานได้ชัดขึ้น และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ยิ่งมีคนให้วิเคราะห์มาก ก็ยิ่งทำให้เห็นมุมมองกว้างมากขึ้น


Define

คือการกำหนดเป้าหมาย หรือปัญหาที่เราสนใจ โดยข้อมูลจากตอนแรกที่ได้มาจากการสัมภาษณ์ หรือสังเกต โดยวิธีการที่เราจะเลือกปัยหามาอยู่ 3 แบบ คือ

  • ปัญหาที่หนัก : ส่งผลกระทบต่อคน, สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่เกิดผลจริง สร้างความเสียหายจริง เช่น ปัญหาที่จอดรถในห้าง ห้างจะยังไม่แก้ไขอะไร เพราะผู้คนที่มาใช้บริการยังไม่ลดลง การแก้ปัญหาในส่วนนี้จึงยังไม่จำเป็น แต่ถ้าเกิดมันทำให้ผู้ใช้บริการลดลง แสดงว่าปัญหานี้ส่งผล และควรได้รับการแก้ไขทันที
  • ปัญหาที่ใหญ่ : ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก
  • ปัญหาที่ส่งผลในระยะยาว : ส่งผลต่อเนื่อง และเป็นระยะเวลายาวนาน

>สรุปคือการ Define คือการที่เราเฟ้นหาประเด็นสำคัญที่ควรค่าแก่การแก้ไข เมื่อเราเลือกปัญหาได้แล้ว เราต้องเลือกผู้ใช้ว่า เป็นใคร และจะใช้ได้อย่างไร (Persona)


การสร้าง Persona

คือการสร้างหรือกำหนดตัวผู้ใช้ขึ้นมา โดยจะเป็นการสร้างตัวละครสมมติขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมาย

  • Name : ระบุชื่อ หรือตั้งชื่อขึ้นมา โดยเป็นชื่อสมมติ

  • Photo : ใส่รูปของผู้ใช้ หารูปโดยให้บุคลิก ลักษณะท่าทาง อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย

  • Sentence : บอกประโยคสั้นๆที่เป็นปัญหาของผู้ใช้

  • Biography : ระบุข้อมูลพื้นฐาน เช่น อายุ เพศ ส่วนสูง การศึกษา เป็นต้น

  • Behavior : ระบุพฤติกรรมของผู้ใช้ เช่น เป็นคนนอนตื่นสาย ชอบทานอาหารไทย ชอบเที่ยวต่างประเทศเดือนละครั้ง เป็นต้น

  • Pain : ระบุความทุกข์ หรือปัญหาที่ผู้ใช้เจอ ที่เราต้องการไปแก้ไข

  • Goal&Motivation : ระบุเป้าหมายว่าคืออะไร ผู้ใช้อยากได้อะไร หรืออยากให้อะไรเกิดขึ้น และเมื่อแก้ไขปัญหาแล้วอยากให้ผลลัพธ์แบบไหนเกิดขึ้น ความคาดหวังคืออะไร

ดังนั้นเมื่อเราสร้าง Persona เสร็จสิ้นแล้ว เราจะได้ตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้จากที่ได้ทำมา เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น และแจกจ่ายให้กับคนในทีม เพื่อให้เห็นภาพร่วมกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน


Ideate

ในส่วนนี้่จะเน้นไปที่เรื่องของปริมาณ ไม่ใช่คุณภาพ สิ่งที่สำคัญในการคิด Idea คือ จะต้องสนุก มีความบ้า, มีความกล้า และมีความแปลกใหม่


เทคนิคการสร้างสรรค์ไอเดีย

ก่อนเราจะเริ่มสร้างไอเดีย ควรจำไว้ว่า ต้องไม่กลัวความล้มเหลว และต้องไม่กลัวข้อจำกัด

  • เทคนิคที่ 1 คือ "การตั้งคำถาม" : ต้องตั้งคำถามให้ดี ให้แหวก แล้วเราจะได้คำตอบที่สร้างสรรค์

  • เทคนิคที่ 2 คือ "การเชื่อมประสาน" : คือการนำ 2 สิ่งที่ต่างกันมากๆ มาเชื่อมต่อกัน จะทำให้ได้สิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์มากกว่าเดิมออกมา

  • เทคนิคที่ 3 คือ "ลองทำสิ่งแปลกใหม่" : เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ จะช่วยสร้างไอเดียแปลกใหม่

สรุปคือ การคิดสร้างสรรค์ คือการอกจากกรอบเดิมๆ ข้อจำกัดเดิมๆ และลองฝึกฝนด้วยการตั้งคำถาม, เชื่อมประสาน และทำสิ่งที่แปลกใหม่


Step Sketch

มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : รวบรวมข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดที่มี ใช้เวลาประมาณ 20 นาที

ขั้นตอนที่ 2 : คิดไอเดียออกมาเป็นข้อๆ โดยไม่จำกัด เน้นปริมาณมากๆ และเลือกมา 1 ไอเดีย ที่ชอบที่สุด ใช้เวลาประมาณ 20 นาที

ขั้นตอนที่ 3 : นำ 1 ไอเดียที่ได้มา Sketch เพิ่มเป็น 8 ไอเดีย และเลือกมา 1 ไอเดียที่ชอบที่สุด ใช้เวลาประมาณ 8 นาที

ขั้นตอนที่ 4 : นำไอเดียที่ได้มา Sketch ตั้งชื่อว่าอะไร มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร (เริ่มอย่างไร/ทำงานอย่างไร/จบอย่างไร)


Prototype

วิธีการสร้างต้นแบบ เป็นต้นแบบในที่นี้ทำขึ้นเพื่อทดลอง และจะไม่นำไปใช้จริง โดยแนวคิดคือ หยาบ, เร็ว และถูก มีเป้าหมายเพื่อใช้ทดสอบการใช้งาน ให้รู้ว่าผู้ใช้รู้สึกอย่างไร, ใช้และจะเกิดอะไรขึ้น และตรงตามที่ออกแบบไว้หรือไม่


เทคนิคการสร้าง Phototype

1. Paper Prototype : เหมาะกับการทดสอบ Application หรือ Website เป็นต้นแบบที่ง่ายที่สุด โดยจะวาดลงไปบนกระดาษ

2. Desktop Prototype : เหมาะกับการออกแบบบริการ หรือพื้นที่ด้านใดด้านหนึ่ง สร้างโดยใช้ของเล่น, กระดาษ หรือดินน้ำมัน (คล้ายๆกับการสร้าง Model ของสถาปัตย์)

3. Role-Play : ใช้ตัวบุคคลมาสมมติเป็นตัวละคร ใช้เพื่อทดสอบการให้บริการ

4. Cardboard Prototype : เหมาะกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยใช้อุปกรณ์คือ กระดาษแข็งที่นำมาขึ้นรูปเป็นอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อลองให้ผู้ใช้ ทดลองจับต้องกับผลิตภัณฑ์


การวาด Wireframe สำหรับ Paper Prototype

ซึ่ง Wireframe คือเทคนิคการร่างเส้นให้ออกมาเป็น Application หรือ Website โดยคงคอนเซ็ป "หยาบ/เร็ว/ง่าย"

เริ่มต้นการวาด Wireframe จากโจทย์หรือฟังก์ชั่นที่ต้องการทำ และต้องการทดสอบ โดยใช้ฟังก์ชั่นนั้นเป็นตัวตั้ง เริ่มต้นจากหน้าแรกก่อน ว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร และตามด้วยปุ่มต่างๆกดแล้วไปไหน ย้ำว่าวาดคร่าวๆ


Test (การทดสอบ)

หรือคือการทดลองว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราคาดหวัง หรือไอเดียที่เราสร้างขึ้นมานั้น ตรงและให้ผลลัพธ์ตามที่เราคิดไว้หรือไม่

"เป้าหมายของการทดสอบ : การได้ Feedback"

เมื่อได้รับ Feedback จะทำให้เราเห็นผลลัพธ์ เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

ดังนั้นการทดสอบจึงสำคัญที่สุด เพราะมันจะนำเราไปสู่ข้อเท็จจริง และจะทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น


รูปแบบในการ Test

มี 2 รูปแบบ โดยขึ้นอยู่กับเป้าหมาย

  • การทดสอบแบบหยาบ : ไว้ใช้ทดสอบไอเดีย แนวคิด ความเป็นไปได้ของไอเดีย เช่นการใช้ Paper Prototype

  • การทดสอบแบบละเอียด : ไว้เรียนรู้ภาพย่อยๆที่มีอยู่ เช่น รายละเอียดในการออกแบบ Font, สี, ปุ่ม หรือเมื่อผู้ใช้ใช้แล้ว จะมีพฤติกรรมอย่างไร เป้าหมายเพื่ออะไร ดูว่าผู้ใช้เข้าใจการทำงานของ App, ปุ่ม, ข้อความหรือไม่


เครื่องมือที่ต้องใช้ในการ Test

สิ่งที่ต้องเตรียม

1. สถานที่ : ถ้า Test แบบหยาบ จะใช้สถานที่แบบไหน ตรงไหนก็ได้ แต่ถ้า Test แบบละเอียด จำเป็นต้องใช้สถานที่มิดชิด และส่วนตัว เพื่อให้มีสมาธิมากขึ้น

2. ทีมงาน : ประกอบไปด้วย

  • Interview : ทำหน้าที่ทดสอบ และสัมภาษณ์
  • Observer : ทำหน้าที่สังเกตการณ์ คอยมองรายละเอียด และอารมณ์
  • Simulator : ทำหน้าที่จำลองการทดสอบ เช่นทำเสียง Effect

แต่ถ้าไม่มีทีมงาน ให้สนใจแค่ข้อ 2 และ 3 ข้อ 1 ไม่จำเป็นเพราะเราอยากดูแค่พฤติกรรมของผู้ใช้

3. สิ่งที่ใช้ในการบันทึกการทดสอบ : ประกอบไปด้วย

  • กล้อง : โฟกัสที่หน้าจอ App และใบหน้าของผู้ใช้งาน
  • การจดบันทึก : เก็บรายละเอียดที่กล้องทำไม่ได้


ขั้นตอนวิธีการ Test

ขั้นตอนที่ 1 : แนะนำตัว และบอกเป้าหมายของการทดสอบ ว่าทำไปเพื่ออะไร

ขั้นตอนที่ 2 : สร้างบรรยากาศ เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกไม่กดดัน รู้สึกสบายๆ และบอกผู้ใช้ว่าไม่มีผลต่อเขา เป็นการทดลองผลิตภัณฑ์ หรือบริการ

ขั้นตอนที่ 3 : ให้ผู้ใช้ ได้ลองใช้งานผลิตภัณฑ์ หรือบริการ จากนั้นลอบสังเกตพฤติกรรม และสีหน้า

ขั้นตอนที่ 4 : ตั้งโจทย์ที่ผู้ผลิตอยากรู้ และให้ผู้ใช้ลองตอบ เช่น เข้าใจหรือไม่ หรืออาจจะลองกำหมดโจทย์ให้ผู้ใช้ทำ "ถ้าหากต้องการโพสรูป ต้องทำอย่างไร?" เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 5 : สอบถามความรู้สึก, ข้อคิดเห็น หรือ Feedback ของผู้ใช้

คำถามสำคัญคือ คุณคิดว่า App นี้ เป็น App สำหรับอะไร?


จงทำซ้ำ

ทำซ้ำลูปไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และเข้าใจผู้ใช้มากขึ้น!!

Top comments (0)

Image of Docusign

🛠️ Bring your solution into Docusign. Reach over 1.6M customers.

Docusign is now extensible. Overcome challenges with disconnected products and inaccessible data by bringing your solutions into Docusign and publishing to 1.6M customers in the App Center.

Learn more