DEV Community

Ta
Ta

Posted on • Edited on • Originally published at tamemo.com

FP(05): Lazy Evaluation ขี้เกียจไว้ก่อนแล้วดีเอง?!

ติดตามบทความอื่นๆ ของเราได้ที่ TAMEMO.com

ในบทนี้เราจะแบ่งออกเป็น 2 พาร์ท นั่นคือคอนเซ็ปของการใช้ Lazy ในภาษาสาย FP แท้ๆ กับการนำคอนเซ็ปนี้ไปใช้ในภาษาทั่วๆ ไปนะ ... ซึ่งช่วงแรก เราจะขออธิบายกันด้วยภาษา haskell (อ่านไม่ยากหรอก ฮา)

Laziness Evaluation

คำนี้ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คงประมาณ "การประมวลผลแบบขี้เกียจ" ซึ่งฟังดูไม่ดีเท่าไหร่นะ ขอแปลแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า "การประมวลผลเมื่อต้องใช้งานตอนนั้น" แทนละกัน

ในบทก่อนเราสอนวิธีการสร้างลิสต์ในรูปแบบ List Comprehension ไปแล้ว

เช่นถ้าเราต้องการลิสต์ของตัวเลข 1-1000 เราก็อาจจะเขียนได้แบบนี้
ในฐานะที่เรากำลังคุยเรื่อง FP กันอยู่ ขอยกตัวอย่างด้วยภาษาสายฟังก์ชันนอลแท้ๆ อย่าง haskell กันก่อนละกัน

evenNumbers = [1,2..1000]
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

แต่ใน haskell เราสามารถสร้างลิสต์แบบนี้ได้ด้วย

evenNumbers = [1,2..]
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

ในลิสต์ตัวแรก เราอ่านออกว่าต้องการสร้างตัวเลข 1-1000 ขึ้นมา

แต่ในลิสต์ตัวที่สอง เราตัดค่าตัวสุดท้ายทิ้งไป ... แล้วแบบนี้มันจะสร้างลิสต์ไปจนถึงตัวไหนกันล่ะ?

คำตอบก็คือ .. ไม่มีตัวสิ้นสุดยังไงล่ะ!!

สำหรับคนที่เคยเขียนโปรแกรมมาน่าจะรู้ว่าเราไม่สามารถสร้างลิสต์ของเลขแบบไม่รู้จบได้ เพราะตัวเลขแต่ละตัวต้องการพื้นที่ในเมโมรี่ และการสร้างตัวเลขไปเรื่อยๆ แบบนั้น ที่จุดหนึ่งก็จะทำให้เมโมรี่เต็ม!

สำหรับมนุษย์น่ะ อาจจะไม่มีปัญหา เราสามารถทำความเข้าใจคำว่าลิสต์ของตัวเลข 1, 2, 3, 4, ... ไปเรื่อยๆ ได้ เราสามารถทำความเข้าใจได้ว่านี่คือลิสต์ที่มีตัวเลขไล่ไปเรื่อยๆ เป็นล้านๆ ตัวได้เลย โดยที่เราไม่ได้จำตัวเลขทั้งหมดนั้นไว้ทั้งหมด แต่เราจำว่ามันคือลิสต์ที่เป็นเลขต่อๆ กัน แล้วเมื่อจะใช้งาน ค่อยคิดว่ามันจะต้องเป็นเลขอะไร

และนั่นแหละ มันคือสิ่งที่เรียกว่า "Lazy Evaluation"

ลิสต์แบบปกติเราจะเรียกว่ามันเป็น Static List นั่นคือลิสต์ที่มีข้อมูลพร้อมทุกตัวตั้งแต่แรกที่สร้างลิสต์ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นลิสต์แบบ Lazy มันจะสร้างไอเทมแค่บางตัวไว้ตอนแรกเท่านั้น ส่วนตัวที่เหลือถือว่ามีนะ แค่ยังไม่ได้สร้างขึ้นมาเท่านั้นเอง

ลองดูตัวอย่างเวลาเราใช้งาน Lazy List กัน เริ่มต้นด้วยลิสต์ [1,2..] ที่มีเลขแค่สองตัว

ต่อมา ถ้าเรามีการ access ข้อมูลตัวไหนก็ตาม ลิสต์จะเช็กเองว่าข้อมูลตัวนั้นเคยสร้างขึ้นมารึยัง ถ้ายังไม่ได้สร้าง ก็จัดการสร้างมันซะจังหวะนี้แหละ

ข้อสังเกตอีกอย่างนึงคือ ตอนที่เรา access ไปถึงข้อมูล index 4 นั้น เราข้าม index 3 ไปนะ แต่ลิสต์มันก็สร้างตัวที่ index 3 ให้เราด้วยนะ เพราะ Lazy List จะสร้างไอเทมเรียงกัน ไม่กระโดดข้าม ถ้าต้องการไอเทมตัวท้ายๆ ก็ต้องสร้างตัวข้างหน้ามันให้เสร็จซะก่อน

เมื่อ FP มีฟีเจอร์แบบนี้ ทำให้เราสามารถสร้าง "ลิสต์ปลายเปิด" ที่ไม่ได้บอกว่าจะไปจบที่เลขเท่าไหร่ได้ยังไงล่ะ

ก่อนจะจบส่วนของเนื้อหา ลองมาดูตัวอยากการประยุกต์ใช้ Lazy กันหน่อย

Fibonacci Number

ลำดับฟีโบนัชชีคืออะไร ถ้ายังไม่รู้อ่านก่อนได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/จำนวนฟีโบนัชชี

ถ้าสรุปง่ายๆ มันคือลำดับตัวเลขที่มาจากการบวกตัวเลข 2 ตัวข้างหน้า

Fibonacci Number:
1 1 2 3 5 8 13 21 34 55 89 144 233 377 610 987
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

ซึ่งเราสามารถสร้างลิสต์ fibo ในภาษา haskell ได้แบบนี้

fibo = 1 : 1 : [a + b | (a, b) <- zip fibo (tail fibo) ]
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

อาจจะอ่านไม่รู้เรื่องว่ามันคืออะไรกัน (ฮา) ไม่เป็นไร เรากำลังจะอธิบายต่อ

  • สำหรับ fibo นั้นต้องเริ่มด้วยตัวเลขคู่แรก กำหนดมาก่อนเป็น 1 และ 1 (บางครั้งก็นับว่าเริ่มด้วย 0 และ 1 แต่ในเคสนี้ขอเริ่มด้วยคู่แลขแบบแรกละกัน)
  • เมื่อเรามีเลขคู่แรกเป็นตัวตั้งต้นแล้ว เราก็เลยกำหนดว่าชุดตัวเลขหลังจากนี้ (ลิสต์) เราจะสร้างมาจากลิสต์อีก 2 ตัว นั่นคือ fibo และ tail fibo
  • เราจะเอาลิสต์ 2 ตัวนั้นมา zip กัน แล้ว + เป็นค่าตัวใหม่

ใครจำว่า zip และ tail คืออะไรอ่านทวนได้ใน บท 3 และ บทที่ 4 ได้เลยนะ

ดังนั้น ตอนเริ่มเราจะได้ลิสต์ fibo ที่มีหน้าตาแบบนี้ [1, 1, ...]

คำถามคือตัวต่อไปจะมาจากไหนล่ะ? ในโค้ดบอกว่าให้จับลิสต์ fibo ก็คือลิสต์ของตัวมันเองนั่นแหละ ที่ตอนนี้มีแค่ [1, 1] มา zip กัน (แต่ตัวนึง สั่งให้ tail ด้วย ก็คือตัดตัวแรกสุดทิ้งไป)

นั่นก็คือเราจะหยิบตัวเลขตัวแรกสุดของลิสต์ทั้งสองตัวออกมา คือ (1) และ (1) แล้วเอามาบวกกัน = 2

แล้วใส่เลขตัวนั้นต่อลิสต์ fibo ลงไป (สรุปคือตอนนี้ fibo = [1, 1, 2, ...] นะ)

ถึงตอนนี้อาจจะสงสัยว่า งั้นตัวเลขของเราก็หมดแล้วน่ะสิ !?

อย่าลืมว่า ลิสต์ที่เราเอาไว้ดึงตัวเลขตัวถัดไปของเรา มันไม่ใช่ static list หรอกนะ มันคือ lazy list ที่ชื่อว่า fibo นะ

เพราะลิสต์ที่เรากำลังสร้างอยู่ชื่อว่า fibo แถมลิสต์ที่เอาไว้ดึงค่าตัวต่อไปก็ดันอ่านมาจากลิสต์ fibo อีก!

ก็แสดงว่าเมื่อเรามีไอเทมเพิ่มเข้ามาใน fibo ลิสต์ทางขวา (ดูในรูป) ก็จะได้ไอเทมเพิ่มไปด้วยโดยอัตโนมัติ (เพราะจริงๆ มันคือลิสต์เดียวกัน!!)

หลังจากนั้นก็จะใช้คอนเซ็ปเดิม คือ

  • เราจะสร้างตัวเลขต่อไปโดยการดึงค่าตัวแรกออกมาจากลิสต์
  • เอามาบวกกัน แล้ว append ต่อเข้าไปในลิสต์ตัวหลัก
  • และในจังหวะนั้นเอง เมื่อลิสต์ตัวหลักมีการเปลี่ยนแปลง ลิสต์คู่ที่ใช้ดึงข้อมูลก็จะได้ไอเทมไปเพิ่มทันที
  • มันก็จะวนต่อๆๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ

แต่ถ้ามองว่าแบบนี้มันก็วนไปไม่มีสิ้นสุดน่ะสิ -> ใช้แล้วครับ มันสามารถวนไปได้เรื่อยๆ เลย แต่เนื่องจากมันเป็น lazy list กระบวนการทั้งหมดนี้จะยังไม่ถูกโปรเซสอะไรทั้งนั้น จนกว่าเราจะมีการดึงข้อมูลออกมา เช่นสั่งว่า take 10 fibo (ขอไอเทม 10 ตัวแรกจากลิสต์)

ผลลัพธ์ก็จะรันได้แบบด้านล่างนี่

$ ghci
GHCi, version 8.0.2

> fibo = 1 : 1 : [a + b | (a, b) <- zip fibo (tail fibo) ]
> take 10 fibo
=> [1,1,2,3,5,8,13,21,34,55]
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

ปัญหาคือ...

ภาษาทั่วๆ ไปที่เราเขียนกัน มันไม่ได้มีฟีเจอร์นี้แบบ haskell น่ะสิ! ดังนั้นเราลองมาดูกันว่าภาษาทั่วไปที่เราเขียนกันถ้าอยากใช้ Lazy Evaluation จะต้องเขียนยังไง


แล้วภาษาสาย Imperative จะทำยังไง?

ขอยกตัวอย่างด้วยสองภาษาคือ

  • JavaScript: ตัวแทนของภาษาที่ฟีเจอร์ Generator
  • Java: ตัวแทนของภาษาตระกูล OOP

yield มันซะ!, สำหรับภาษาที่มี Generator

ในภาษาเขียนโปรแกรมยุคใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์ที่เรียกว่า "Generator" ใส่มาให้ด้วย (จะใช้คีย์เวิร์ดคำว่า yield) ซึ่งทำให้เราสามารถเขียนฟังก์ชันที่ทำงานแบบ lazy ได้

ลองมาดูตัวอย่างฟังก์ชัน range() กันก่อน

function range(start, end) {
    let numbers = []
    for(let i=start; i<=end; i++){
        numbers.push(i)
    }
    return numbers
}
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

ฟังก์ชันนี้มีการทำงานคือรับตัวเลขเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดเข้าไป แล้วสร้างลิสต์ของตัวเลขออกมาให้ เช่น range(2,5) ก็จะได้ [2, 3, 4, 5]

แต่หลังจากเรารู้จัก lazy evaluation กันไปแล้ว เราอาจจะมองว่าฟังก์ชันนี้มันทำงานไม่ดีเลยแฮะ เพราะจะต้องสร้างลิสต์ของตัวเลขทั้งหดมขึ้นมาเลยเหรอ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะใช้เลขครบทุกตัวจริงๆ มั้ย

สิ่งที่เราต้องการก็คือเราอยากจะ return เลขทีละตัว

function range(start, end) {
    for(let i=start; i<=end; i++){
        return i 
        //return 1 value, then finish!
    }
}
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

แน่นอนว่าเราสั่งแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเราสั่งreturnล่ะก็ หลังจากมันรีเทิร์นค่าแรกเสร็จแล้วโปรแกรมก็จะหยุดทำงานทันที

วิธีการแก้คือเปลี่ยนจากการใช้ return ไปใช้คำสั่ง yield แทน

function* range(start, end) {
    for(let i=start; i<=end; i++){
        yield i
    }
}
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

ฟังก์ชันที่สามารถ yield ได้ เราจะเรียกมันว่าฟังก์ชัน "Generator" ซึ่งมีความสามารถในการตอบค่าได้หลายครั้ง (คล้ายรีเทิร์นได้หลายค่า) โค้ดจะรันมาถึงจุดที่มีการสั่ง yield แล้วค้างอยู่ตรงนั้น จนกว่าจะมีการขอค่าครั้งแต่ไป

เอาง่ายๆ มันคือฟังก์ชันที่สามารถหยุดทำงานชั่วคราวได้ และสามารรีเทิร์นได้หลายครั้ง

เวลาใช้งานก็เอามาวนลูปแบบนี้

for(let x of range(1, 10)){
    console.log(x)
}
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

ข้อควรระวังเวลาใช้ Generator คือถ้ามันเป็นแบบปลายเปิด คือสามารถสร้างเลขไปได้เรื่อยๆ เราจะต้องมีเงื่อนไขสำหรับหยุดลูปเสมอ!

function* range(start) {
    let i = start
    while(true) {
        yield i
        i = i + 1
    }
}
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

เช่นในเคสนี้ เราสร้างGeneratorที่สร้างเลขมาเรื่อยๆ ไม่มีจุดสิ้นสุด ถ้าเราเอาไปวนลูปตรงๆ มันจะกลายเป็น Infinity Loop ไม่มีวันจบ

for(let i of range(1)) {
    //Infinity Loop!!
}
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

ในกรณีนี้ต้องมีเงื่อนไขที่เรียกว่า "Terminate Condition" เพื่อหยุดลูปเสมอ

for(let i of range(1)) {
    //Terminate Condition
    if(...) break
}
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

หรือเราอาจจะสร้างฟังก์ชันมาดึงไอเทมออกมาตามจำนวนที่ต้องการก็ได้ แบบนี้

function take(n, generator) {
    let elements = []
    let i = 0
    for(let element of generator) {
        if(i >= n) break
        elements.push(element)
    }
    return elements
}

let list = take(10, range(1))
//1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

Fibonacci with yield

เราสามารถลองเอาฟังก์ชัน fibo มาเขียนใหม่ด้วยการใช้ yield ได้

ซึ่งส่วนใหญ่การเขียน Generator จะประกอบด้วยส่วนต่างๆ ประมาณนี้

function fibo(){
    // 1.init
    let n = pair(1, 1)

    // 2.infinity loop
    while(true) {

        // 3.yield first number
        yield n.first

        // 4.update current pair numbers
        n = pair(
            n.second, 
            n.first + n.second
        )
    }
}
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

ขี้เกียจสไตล์ OOP, เขียนเยอะกว่าเดิม บอกเลย!

สำหรับภาษาที่เคร่งเรื่อง OOP มากๆ แบบ Java การจะสร้าง Generator ขึ้นมาจะต้องสร้างในรูปแบบของ object แทน

เราต้องการให้อ็อบเจคตัวไหนสามารถเป็น Generator ได้เราจะต้องสั่งให้มัน implements Iterable ซึ่งจะบังคับให้เราเขียนเมธอด iterator

class Persons implements Iterable<People> {

    List<Person> persons = new ArrayList<>();

    //ถ้าข้อมูลของเราเป็น Iterable อยู่แล้ว
    public Iterator<Person> iterator() {
        return persons.iterator();
    }

    //ถ้าข้อมูลของเรา ไม่ได้เป็น Iterable (ต้องสร้างเอง)
    public Iterator<Person> iterator() {
        return new Iterator<Type>() {

            //ตัวนับ index
            private int currentIndex = 0;

            //เช็กว่าเรายังเหลือข้อมูลให้ตอบมั้ย
            @Override
            public boolean hasNext() {
                return currentIndex < persons.size();
            }

            //ดึงข้อมูลตัวถัดไป
            @Override
            public Type next() {
                return persons.get(currentIndex++);
            }

            @Override
            public void remove() {
                throw new UnsupportedOperationException();
            }
        };
    }
}
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

Lazy ใน Real-World

ก่อนจบบทนี้ ลองมาดูตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ กับการประยุกค์ใช้ที่เจอได้ในการเขียนโค้ดประจำวัน

Collections vs Sequences

ในบางภาษา เช่น Kotlin จะมีชนิดตัวแปรแบบ List 2 คือลิสต์แบบ static ธรรมดากับแบบ lazy ที่เรียกว่า "Sequence"

ลองดูตัวอย่างข้างล่างนี้เมื่อเราใช้คำสั่ง map กับ first

val numbers = listOf(1, 2, 3, 4, 5)

// Collections
val n = numbers.map {
    it * it
}.first {
    it > 10
}
// 1. นำเลขทุกตัวไปยกกำลังสอง  = [1, 4, 9, 16, 25]
// 2. เลือกเลขตัวแรกที่มากกว่า10 = 16

// Sequences
val n = numbers.asSequence().map {
    it * it
}.first {
    it > 10
}
// 1. นำเลขทุกตัวไปยกกำลังสอง (แต่ยังไม่ทำ เพราะยังไม่มีการขอตัวเลขไปใช้)
// 2. เลือกเลขตัวแรกที่มากกว่า10 (ในจังหวะนี้ค่อยนำตัวเลขจากสเต็ปที่แล้วไปยกกำลังสองทีละตัว ถ้าเจอตัวที่ตรงเงื่อนไขก็หยุดได้ทันที) = [1, 4, 9, 16, ...]
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมลองไปอ่านที่บทความนี้ดู Collections and sequences in Kotlin

Singleton

Singleton เป็น Design Pattern ยอดนิยมหนึ่งตัวที่คนใช้กันเยอะมาก (แต่คำแนะนำของเราคือเราไม่ควรใช้แพทเทิร์นนี้เยอะๆ นะ)

คอนเซ็ปคือถ้าเรามีคลาสสไตล์ helper ที่ทั้งโปรแกรมสร้างอ็อบเจคแค่ตัวเดียวก็พอ เช่น

class Calculator {

    public static Calculator instance = new Calculator();

    public int add(int x, int y){
        return x + y;
    }
}

int ans = Calculator.instance.add(1, 2);
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

เราสร้างตัวแปรแบบ static ชื่อ instance เอาไว้ จากนั้นเวลาจะใช้งานจะได้เรียกจากตัวแปรนี้อย่างเดียวได้ ไม่ต้องคอย new อ็อบเจคเรื่อยๆ ให้เปลือง

แต่ก็มีปัญหาคือถ้าเราเขียนโค้ดแบบนี้ instance จะถูกสร้างทันทีที่โปรแกรมเริ่มทำงาน แม้ว่าจะยังไม่มีโค้ดส่วนไหน เรียกเมธอด add() เลยก็ตาม

ดังนั้นวิธีแก้ของแพทเทิร์นส่วนใหญ่จะนิยมให้เรียกผ่านเมธอด getInstance() แทน ซึ่งจะมีการเช็กว่าตัวแปรนั้นถ้ายังไม่เคยถูกสร้าง ให้สร้างใหม่ตอนนั้น (แปลว่าถ้าไม่มีใครเรียกใช้งานเลย ก็ไม่ต้องสร้าง = สร้างเมื่อใช้งานตามคอนเซ็ป lazy)

class Calculator {

    private static Calculator instance = null;

    public static Calculator getInstance(){
        if(instance == null){
            instance = new Calculator();
        }
        return instance;
    }

    public int add(int x, int y){
        return x + y;
    }
}

int ans = Calculator.getInstance().add(1, 2);
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

ในภาษายุคใหม่หลังๆ ส่วนใหญ่จะมีการใส่การใช้ lazy ลงไปใน syntax ของภาษาเลย

เช่น Kotlin (อีกแล้ว)

val instance: Calculator by lazy {
    Calculator()
}
Enter fullscreen mode Exit fullscreen mode

จริงๆ มีตัวอย่างอีกมากมายที่เราสามารถนำหลักการ lazy มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโปรแกรมได้ เช่น ORM (ถ้าสนใจ ลองเสิร์จดูได้ หรือถ้ามีโอกาสในอนาคตเราจะพูดถึงเรื่องนี้กันต่อ)

Top comments (0)